(กัญชา)ข้อสำคัญที่หลายๆคนมองข้าม(หรือไม่ทราบ) เกี่ยวกับการปลูกกัญชา เพื่อปรุงอาหาร
การปลูกต้นกัญชา ในปัจจุบัน ประเทศไทยได้ปลดล๊อค ให้เป็นเสรีแล้ว แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้ประชาชนเสพกัญชาเพื่อความบันเทิงหรือที่เรียกว่า สูบกัญชา เพราะกัญชายังคงมีความเป็นยาเสพติดหากใช้ผิดวิธีการ แม้ว่าปัจจุบันนั้น จะเน้นที่ว่า หากมีสาร THC มากกว่า 0.2% เท่านั้น จะถือว่าเป็นสารเสพติด (ถามหน่อย แล้วใครไปตรวจว่ามันมีเท่าไหร่ ? เวลาเอามาสูบ) ผมเชื่อว่าการที่เปิดเสรีกัญชา แต่คนส่วนใหญ่นั้นก็ยังมองว่าการเสพกัญชาเป็นสิ่งที่ผิด แต่การเอากัญชานั้นมาเป็นส่วนผสมของการประกอบอาหาร น่าจะเป็นอะไรที่พอจะสามารถทำได้ และได้รับการยอมรับมากกว่า
ในกัญชานั้นมีสาร อยู่ 2 ตัว ที่เป็นสารเคมีหลักที่ทำให้กัญชาถูกเรียกว่า ยาเสพติดในอดีต คือ
- สาร THC หรือ tetrahydrocannabinol ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ง่วง เคลิ้ม กระตุ้นการอยากอาหาร
- สาร CBD หรือ Cannabidiol ลดการอักเสบ สงบ ผ่อนคลาย
ซึ่งแต่ละสายพันธ์ของกัญชา (Cannabis) นั้น จะมีสารทั้ง 2 ตัวนี้ ในปริมาณและสัดส่วนต่างกัน แม้แต่ กัญชง(Hemp) ก็เช่นกัน มันเป็นเพียงสายพันธ์ย่อยของกัญชา ที่มีปริมาณสาร THC, CBD น้อยกว่ากัญชามาก และถูกใช้ประโยชน์ในด้านอื่นมากกว่า เช่น ทำเป็นเชือกฟั่น เพราะเป็นพืชที่ให้ใยธรรมชาติที่ทนทาน รวมถึงมีเมล็ดที่มีโปรตีนสูง มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ชนิดเดียวกับที่พบในปลา อีกด้วย
ในบทความนี้ จะกล่าวถึง ข้อควรระวังในการปลูกกัญชา ตามบ้านเรือน เพื่อที่จะใช้ส่วนประกอบบางอย่าง ผสมลงไปในอาหาร เพื่อจะใช้ประโยชน์จากสาร THC ไปกระตุ้นการอยากอาหาร ทำให้อาหารนั้นมีรสชาติอร่อยมากขึ้น ซึ่งก็มักจะถูกกล่าวถึงบ่อยๆว่า ร้านอาหารร้านนี้ใส่กัญชารึเปล่า ทำไม มันอร่อยจัง 55+ อะไรประมาณนี้
แต่ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ก็ คือ กัญชาเป็นพืชที่ดูดสารพิษโลหะหนักในดินมาเก็บไว้ในตัวของมัน นั่นหมายความว่า หากดินที่เอามาปลูกต้นกัญชานั้น มีสารโลหะหนักเจือปนอยู่ จะทำให้ต้นกัญชามีส่วนผสมของโลหะหนักในส่วนต่างๆของต้นกัญชาไปด้วย
นั่นเป็นสาเหตุที่การปลูกกัญชาทางการแพทย์ ต้องได้รับการควบคุมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข ตั้งแต่เรื่องเมล็ดพันธ์, การทำโรงเรือน, การส่งตัวอย่างดินที่ใช้ปลูกไปตรวจหาสารโลหะหนัก เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องของการส่งตัวอย่างดินไปตรวจที่หน่วยงานที่สามารถรับตรวจสารประกอบในดินแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายตรงที่ว่า มีค่าใช้จ่ายสูงพอประมาณเลยทีเดียว(หากเทียบกับการที่จะปลูกไว้ใส่อาหาร) ดังนั้น การปลูกกัญชาเพื่อผลิตเป็นยานั้น จึงมีขั้นตอนวิธีการที่มากกว่า การปลูกเพื่อ นำมาใส่ในอาหารรับประทาน
แต่เราก็ไม่อาจจะมองข้ามไปได้ !! เพราะหากไม่ใส่ใจเรื่องดินที่มีสารโลหะหนัก แล้วเรานำต้นกัญชาไปปลูกเพื่อใส่อาหาร หากมีโลหะหนักในดิน ผู้ที่รับประทานอาหารย่อมได้รับสารโลหะหนักนั้นเข้าสู่ร่างกายไปด้วย และถ้ามีปริมาณสูงมากๆ อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ (ขึ้นอยู่กับประเภทสารโลหะหนัก)
การปลูกต้นกัญชาลงพื้นดิน จึงมีความเสี่ยงในเรื่องการดูดสารโลหะหนัก เพราะเราจะไม่ทราบว่า รากของต้นกัญชา ชอนไชไปตรงไหน และดินบริเวณไหน มีสารโลหะหนัก บางคนปลูกต้นกัญชาข้างบริเวณที่ใช้ทิ้งขยะ และใช้เผาขยะ ตามชนบทต่างๆ สารพิษต่างๆตรงนั้นก็ไม่สามารถทราบได้ว่า มีสารอะไรบ้าง เพราะบางครั้งตามชนบท ก็มีการทิ้งพวกถ่ายไฟฉายเก่าๆ แบตเตอรี่เก่าๆ ซึ่งอันตรายมากๆ หากนำส่วนประกอบต่างๆของต้นกัญชาที่ปลูกบริเวณนั้นไปเป็นส่วนผสมของอาหารที่เรารับประทาน
ภาพการจัดการ เรื่องกัญชาทางการแพทย์ ที่ผลิตเพื่อเป็นยา
// ขอขอบคุณ พี่ C. นามสมมุต ที่สนับสนุนข้อมูลและภาพ ครับ