เมื่อเงินเฟ้อมา เราก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย คริปโตก็ลง แล้วมันเกี่ยวกันตรงไหนเนี่ย อธิบายหน่อย ??
หลายคนคงรู้แล้วว่า เงินเฟ้อ (inflation) คืออะไร ?? มันก็คือภาวะเงินที่อยู่ในระบบทั่วไปที่ใช้แลกเปลี่ยน ซื้อขายกัน มีจำนวนมากเกินไป เมื่อเทียบกับความต้องการของคนอยากซื้อ จนทำให้มูลค่ามันลดลง เช่น เราหาเงินได้เยอะ หาเงินได้ง่ายๆ (เพราะเงินในระบบมีเยอะ บริษัทจึงจ้างแพงๆ) เราจึงยอมจ่ายค่าพวงมาลัยนักร้อง พวงละ 1500 บาทได้สบายๆ เพราะต้องแข่งขันกับเสี่ยคนอื่นๆ (ความต้องการสินค้าสูง)แล้วดันมีพวงมาลัยเหลือแค่ไม่กี่พวง (Supply มีน้อย) ไรงี้ (พวงมาลัย พวงละ 1500 อ่ะ แพงไหมละ ซื้อได้แค่พวงมาลัยพวงเดียวเอง)
*จำนวนเงินตัวเลขเยอะ แต่ ซื้อของได้น้อย เพราะมูลค่าของเงินลดลง = เงินเฟ้อ*
แล้วทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นล่ะ โดยสถานการณ์ปกติ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะว่ามีการพิมพ์เงินเข้าระบบมากเกินไป เช่น อเมริกาทำ QE เข้าระบบเยอะ หรือ การอัดฉีดเงินเข้าระบบ อย่างนโยบายคนละครึ่ง เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้มากขึ้น แม่ค้าเห็นว่ามีคนละครึ่ง เลยขึ้นราคาสินค้า จาก 20 บาท เป็น 30 บาท (เพราะจ่ายครึ่งหนึ่งก็แค่ 15 บาท ก็ยังจ่ายถูกกว่าเดิมอยู่ดี คนจึงยังยอมจ่าย)
แต่เงินเฟ้อในยุคปัจจุบัน (ปี 2022) ขณะนี้นั้น เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ มันเกิดจากต้นทุนของพลังงานเพิ่มขึ้น ทำให้ข้าวของต่างๆมันแพงขึ้น โดยที่เราไม่ได้ต้องการสินค้าต่างๆเพิ่มขึ้นเลย ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อน วันหนึ่งเรากินมาม่า 3 ซอง จ่ายไป 15 บาท แต่ปัจจุบัน ก็กินมาม่าวันละ 3 ซองเท่าเดิม แต่ต้องจ่าย 18 บาท เพราะต้นทุนน้ำมันแพงขึ้น (ณ ขณะนี้ประมาณ 120 $ ต่อบาเรล) ตูไม่ได้ต้องการกินเยอะขึ้นนะเฟ้ย และบริษัทมาม่า ก็ไม่ได้ลดการผลิตมาม่าลงด้วย มาม่าในระบบยังผลิต และมีปริมาณเท่าเดิม
อ้าว แล้วมาม่ายังแพง ทำไม ? เสือกไปขึ้นดอกเบี้ย งง!!
คือ ถ้าอธิบายในสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วไป ที่เกิดจากการเงินในระบบมีเยอะ มูลค่าเงินน้อยลง แต่สินค้าในระบบผลิตได้เท่าเดิม บริษัทต่างๆจึงสามารถเพิ่มราคาสินค้าได้ (สินค้าเลยแพงขึ้น) บริษัทเหล่านี้เลยคิดว่า แจ่มเลยทีนี้ ผลิตมาเท่าไหร่ ขายแพงเท่าไหร่ ก็มีคนซื้อ เลยไปกู้เงินธนาคารดีกว่า(ดอกเบี้ยถูกดีนะ หากกู้ไปลงทุน กำไรเห็นๆ) บริษัทก็คิดว่าเอาไปลงทุนผลิตสินค้าให้มากยิ่งขึ้นดีกว่า รวยๆๆๆ ขึ้นราคาแพงๆก็ยังขายได้ สบายตูละ (แล้วประชาชนทั่วไปก็ต้องจ่ายแพงๆ เพื่อซื้อสินค้าต่อไป)
ดังนั้น เพื่อเป็นการสกัดเงินเฟ้อ จึงมีการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดการลงทุน ลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แรงเกินไป พอต้นทุนการเงินเพิ่ม ต้นทุนสินค้าก็เพิ่ม การผลิตสินค้าก็น้อยลง ส่วนราคาสินค้านั้นก็คงแพงเท่าเดิมนั้นแหละ มันเป็นการสกัดไม่ให้ผลิตสินค้ามากเกินไป จนไปสู่หายนะ เช่น ตอน เหตุการณ์ฟองสบู่แตกไงละ ตอนนั้นมีแต่คนกู้เงินไปซื้ออสังหาริมทรัพย์เก็งกำไรกัน ไม่ได้ซื้อไปอยู่อาศัย สุดท้าย ผลิตเยอะไป ขายไม่ออก เงินที่ไปกู้ธนาคารมา ไม่มีปัญญาส่งคืน ก็กลายเป็นหนี้สูญ (NPL) ธนาคารที่ให้กู้ ก็พลอยซวยไปด้วย พากันล้มลงไป สุดท้ายก็ซวยถึงประชาชน เพราะค่าเงินอ่อนตัวลง นั่นก็หมายถึงต้องซื้อของต่างๆได้แพงขึ้น หรือซื้อได้น้อยลงในราคาเดิม
แต่ๆๆๆ นี่คือ สถาณการณ์เงินเฟ้อ แบบปกตินะ ตอนนี้มันไม่ใช่ !!
ต้นปี 2021 ที่มีการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก เงินบาทไทย แข็งค่า 30 บาทต่อ 1 USD ส่วนตอนนี้นะหรือ ?? 35 บาทแล้วจ้าา
ตอนเงินแข็งค่า เค้าเรียกว่า เงินฟืด(deflation) คือ เงินนิดเดียวซื้อสินค้าได้เยอะ ซึ่งตอนนั้นภาวะโควิดระบาด ผู้คนต่างไม่ออกจากบ้านไปจับจ่ายใช้สอย หรือ ซื้อของใดๆ เก็บตัวอยู่กับบ้าน ส่วนพ่อค้า แม่ค้าทั้งหลายก็เลยขายของไม่ได้หรือขายได้น้อย ทำให้ต้อง ลดราคาสินค้า เพื่อให้ได้ขายมากขึ้น หากไม่ลดราคาล่อผู้บริโภค ก็ขายยาก โดยปกติแล้ว สถานการณ์นี้เค้าจะ ลดดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นการผลิตสินค้าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม เมื่อมีสินค้าน่าสนใจในระบบมากขึ้น ก็จะกระตุ้นให้ผู้คนออกมาจับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น เศรษฐกิจในภาพรวมก็จะดีขึ้นนั่นเอง
ตอนนี้สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ทุกคนต่างอยากออกจากบ้าน อยากไปเที่ยว อยากไปสังสรร ใช้เงินนอกบ้าน อยากไปเฮฮา ปาตี้กันบ้าง !!
แต่ “น้ำมัน เสือก แพงอ่ะ” ทำให้หลายๆคนต้องรัดเข็มขัดกันอีกละ เหตุการณ์มันจะคล้ายๆเงินฝืด คือ คนดันกลับมาเซพเงินในกระเป๋าตัวเอง ไม่ได้ใจป้ำ ใจป๋า ใช้เงินเป็นว่าเล่น เหมือนตอนเงินเฟ้อ แต่ค่าเงินกลับอ่อนค่า เหมือนตอนเงินเฟ้อซะงั้น อืมมม… สรุปว่ามันเฟ้อ หรือ มันฟืด กันแน่ ??
มันก็ยังคงเป็นเงินเฟ้อ นั่นแหละ
แต่เป็นเงินเฟ้อจากต้นทุนของน้ำมันมันเพิ่ม ทำให้ต้นทุนของทุกอย่างมันเพิ่ม เพราะสินค้าหลายตัวต้องอาศัยการขนส่ง(ใช้น้ำมัน) ทำให้สินค้าแพงขึ้น (ใช้เงินเพิ่มขึ้น เพื่อซื้อสินค้าที่เท่าเดิม = เงินเฟ้อ) ดังนั้นสินค้าบางอย่างที่ขึ้นราคาได้ยาก เพราะถ้าขึ้นแล้วคนจะซื้อน้อยลง อันนี้ถือว่าสถานการณ์บริษัทนั้นๆจะเริ่มแย่ล่ะ
แล้วถ้าเรา “ขึ้นดอกเบี้ย” ล่ะ จะช่วยได้ไหม ??
การขึ้นดอกเบี้ย = สู้กับเงินเฟ้อ = ทำให้ค่าเงินแข็งค่า = สินค้านำเข้าจากต่างประเทศถูกลง(ใช้เงินน้อยลงในการซื้อ) = นำเข้าน้ำมันได้มากขึ้น = น้ำมันในประเทศถูกลง = สินค้าในประเทศถูกลง = ประชาชนก็ซื้อของได้ถูกลง = ค่าครองชีพก็ลดลง = ประชาชนก็ยังพอจะเอาชีวิตรอดไปได้บ้าง
สรุปสถานการณ์ตอนนี้ของบ้านเรา
มันเป็นเงินเฟ้อจากต้นทุนสินค้าเพิ่ม ไม่ใช่เงินเฟ้อจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง การขึ้นดอกเบี้ย ครั้งนี้ จะเป็นการทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นซะมากกว่า แต่ก็ควรระวัง เนื่องจาก ผลกระทบอีกด้านก็คือ การลงทุนขยายธุรกิจต่างๆจะลดลงเพราะมีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น อาจจะทำให้เศรษฐกิจแย่ลงได้เช่นกัน ตัวอย่าง เช่น บริษัทเดินรถ มีการหยุดเดินรถบางส่วนเพราะไม่คุ้มค่าน้ำมัน ดังนั้นการที่จะบริษัทเหล่านี้จะไปกู้เงินมาขยายบริษัท มาซื้อรถเพิ่ม นั้นเป็นไปไม่ได้เลย แม้ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ก็ไม่มีการกู้เงินอยู่ดีนั่นแหละ (*การขึ้นดอกเบี้ย เพราะไม่อยากให้เค้ากู้เงินเยอะ) การขึ้นดอกเบี้ยจึงไม่มีผลใดๆ หรือว่า มีบางบริษัทที่กำลังแบกภาระหนี้ดอกเบี้ยเยอะๆ แล้วไปเจอการขึ้นดอกเบี้ยอีก ทำให้ค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น บริษัทจึงมีโอกาสขาดทุนสูง อาจจะถึงขั้นเป็นโดมิโน่ ผลกระทบเป็นทอดๆ ถ้ามีบริษัทอื่นไปถือหุ้นบริษัทนี้ ก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
ตอนนี้ก็ได้แค่ภาวนาให้ สงครามยูเครนยุติ ราคาน้ำมันลงมาในจุดที่พอรับได้ สงสารประเทศไทย สงสารประเทศที่แย่กว่าไทย สงสารคนไทยที่พบกับโควิดแล้วต้องมาเจออะไรแบบนี้อีก
ปล. การขึ้นดอกเบี้ย หมายถึง ดอกเบี้ยเงินกู้ และดอกเบี้ยเงินฝาก
แล้วพวกเหรียญต่างๆ BitCoin ETH ฯลฯ ที่มันราคาลงมามันเพราะเงินเฟ้อ หรือเปล่า ??
//ขอตอบด้วยความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ//
ผมไม่รู้หรอกว่า BITCOIN หรือเหรียญต่างๆ ที่มันราคาลงกันหมดในช่วงนี้ มันเกิดจากเงินเฟ้อหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้ คือ ราคาของสิ่งเหล่านี้ มันอยู่ที่คนให้ค่า คนประเมินค่าให้กับมัน
มันไม่เหมือนหุ้นบริษัท ที่สามารถให้ปันผล รายไตรมาส รายครึงปี รายปีได้
สำหรับเหรียญต่างๆ สำหรับผม มูลค่าของมัน อยู่ที่ความน่าเชื่อถือของเหรียญนั้นๆ และเหรียญที่ได้รับการยอมรับสูงสุดคือ BITCOIN หากเหรียญ BITCOIN มูลค่าลดลง เหรียญอื่นๆก็มีแนวโน้มจะลงไปด้วย และด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมา มีข่าวไม่ค่อยดีในวงการคริปโต เช่น เหรียญ LUNA ที่สะท้านวงการ และกระทบกับวงการคริปโตในเรื่องน่าเชื่อถือไปได้เยอะมาก นั่นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่คริปโตลงหนักก็เป็นได้
อีกประการหนึ่ง ถ้าเอาเรื่องเงินเฟ้อ และการขึ้นดอกเบี้ยของ เฟด ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน เพราะปกติแล้ว เงินจะไหลไปสู่สินทรัพย์ที่ปลอดภัยและได้ผลตอบแทนสูง หากธนาคารมีการขึ้นดอกเบี้ย ผู้ที่มีเงินเยอะๆ ไม่ต้องการความเสี่ยง และยอมรับกับดอกเบี้ยที่ได้รับ(มันสูงขึ้นแล้วไง) ก็จะมีการโยกย้ายเงินทุนตรงนั้นไป ด้วยการขายสินทรัพย์เสี่ยง(เหรียญคริปโต) ไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทอง , ฝากธนาคาร ฯ ก็จะเกิดขึ้น
และอีกข้อที่พอจะเดาได้แบบไม่ฟันธง ก็คือ เหรียญคริปโต เป็นสินทรัพย์ไว้เก็งกำไร แม้ว่าหลายๆเหรียญจะโฆษณาว่า สามารถใช้ทำโน้น นี่นั่น แต่หลักๆแล้วก็ซื้อไว้เก็งกำไรนั่นแหละ ก็ในเมื่อคนเค้าได้กำไรแล้วเค้าก็ขาย พอขายแล้วราคามันก็ลง คนที่ขาดทุนที่มีวินัย พอถึงจุดหนึ่งเค้าก็ต้องขายตัดขาดทุน มันก็ยิ่งลงมาอีก สุดท้ายข่าวสารต่างๆ ข่าวร้ายต่างๆมากมาย ในตลาด ก็พากันแพนิค ขายกัน
ส่วนจะลงถึงจุดไหนนั้น คงไม่สามารถตอบได้ ก็คงเป็นจุดที่นักเก็งกำไรส่วนใหญ่เห็นว่าราคาถูกแล้ว ราคาคงไม่ลงไปมากกว่านี้แล้ว หรือมีข่าวดีๆเกิดขึ้นกับวงการคริปโต ราคาเหรียญทั้งหลายก็อาจจะถึงจุดสิ้นสุดการลงของรอบนี้ ก็เป็นได้